วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

เด็กไทยแชมป์โลกไมโครซอฟท์เวิร์ด

เด็กไทยแชมป์โลกไมโครซอฟท์เวิร์ด

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/technology/20090914/76667/เด็กไทยแชมป์โลกไมโครซอฟท์เวิร์ด.html

กานกวิญจน์ โค้วสีหวัฒน์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนศรีวิกรณ์



                                           
นาทีนี้คงไม่มีใครรู้จักไมโครซอฟท์เวิร์ดได้ดีเท่า กานกวิญจน์ โค้วสีหวัฒน์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนศรีวิกรณ์ การันตีด้วยรางวัลแชมป์โลกเวิร์ด

รู้จักโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ดตั้งแต่เมื่อไร

 ส่วนตัวสนใจคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ด้วยสนใจความก้าวหน้า เทคโนโลยี และได้มีโอกาสทดลองเล่นไมโครซอฟท์เวิร์ดเป็นโปรแกรมแรก หลังจากที่ไมโครซอฟท์ออกชุดโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิตตัวแรก คือ 97 ออกมา คนก็เริ่มสนใจ เป็นกระแส ได้รับความนิยม หันมาใช้โปรแกรมจัดการไฟล์เอกสารมากขึ้น ซึ่งตัวเองก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้งาน เวิร์ด 97 ในยุคนั้น

 หลายคนเปิดโปรแกรมเวิร์ดมาก็แค่พิมพ์เอกสารแล้วกาญจกวิญจน์ล่ะ

 ผมได้ใช้ทุกความสามารถที่มีของโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด ซึ่งบางคนอาจยังไม่รู้ถึง เช่น โปรแกรมได้เอื้อให้เราจัดเก็บรายชื่อผู้ใช้งาน สร้างจดหมายเวียน ส่งให้คนเป็น 10 เป็น 100 คนได้ โดยไม่ต้องสร้างไฟล์เอกสารขึ้นมาซ้ำๆ กันเป็น 10 ฉบับ หรือแม้แต่เครื่องมือที่ช่วยให้การสร้างเอกสารได้โดยไม่ต้องมานั่งจัดหน้าเองให้เสียเวลา เช่น สารบัญ บรรณานุกรมของหนังสือ ซึ่งหลายคนอาจมองข้ามไป
 ผมมองว่าถ้าเราได้มีโอกาสศึกษาการใช้งานโปรแกรมเวิร์ดในทุกแง่มุม ในที่สุดเราจะสามารถประยุกต์ใช้กับโปรแกรมอื่นในชุดออฟฟิตได้ ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมสร้างตารางคำนวณ หรือ เอ็กซ์เซล และโปรแกรมนำเสนอย่างพาวเวอร์พ้อยท์ เข้ามาผสมผสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทุกโปรแกรมถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานร่วมกัน

เห็นอะไรในพัฒนาการของไมโครซอฟท์เวิร์ดแต่ละเวอร์ชั่น

 เวิร์ดรุ่นใหม่ถูกพัฒนาใช้ใช้งานได้ง่ายขึ้น เพราะในอดีตการใช้งานจะอยู่ในรูปเมนูคำสั่ง แต่สำหรับเวิร์ด 2007 แล้วได้เปลี่ยนมาใช้แถบปุ่มเครื่องมือคำสั่ง หรือริบบอน ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเสียเวลาค้นหา ตัดอุปสรรคด้านการใช้งานของไมโครซอฟท์เวิร์ดในอดีตออกไป เช่นในบางคำสั่งที่เราใช้งานบ่อย แต่กลับอยู่ลึกมาก ต้องคลิกเมนูหา 2-3 รอบ กว่าจะเจอ
 สิ่งที่เราพบในเวิร์ด 2007 คือการใช้งานเมนูที่ง่านขึ้นกว่าเดิม มีตัวช่วยให้ผู้ใช้สามารถออกแบบการใช้งานได้ด้วยตัวเอง นี่คือความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดเจน แม้ความรู้สึกของคนที่ได้ทดลองใช้เวิร์ด 2007 ช่วงเริ่มต้น จะดูแปลกตาและรู้สึกว่าใช้งานยาก แต่หลังจากได้ทดลองใช้จะรู้ว่า 2007 ช่วยเราได้มากจากการใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

นอกจากเมนูคำสั่งแล้วมีอะไรที่มองว่าเป็นจุดเด่น

 แน่นอนการสร้างสมการทางคณิตศาสตร์ สมัยก่อนเวิร์ดไม่เคยรองรับความสามารถตรงนี้ เครื่องมือสร้างสมการเป็นเพียงออปเจ็คหรือ วัตถุ ที่แยกออกมาในชื่อ ไมโครซอฟต์อิเควชั่น ซึ่งการใช้งานค่อนข้างลำบาก แต่ในเวิร์ด 2007 การสร้างสมการกลายเป็นฟีเจอร์ปกติของเวิร์ด ทำให้การใช้งานง่ายขึ้น สามารถดัดแปลงรูปแบบการใช้งานให้เป็นไปตามที่ต้องการโดยไม่ยุ่งยาก จากเดิมที่ทำไม่ได้ ตลอดจนไดอะแกรม หรือตาราง กลายมาเป็นสมาร์ทอาร์ท ซึ่งรวบรวมทุกอย่างของการสร้างแผนภาพ กราฟ ไว้ในที่เดียวกัน

ลองใช้เวิร์ด 2010 บ้างหรือยัง

 ลองเล่นบ้างแล้วครับ หน้าตาเปลี่ยนไปแน่นอน แต่ส่วนตัวผมมองว่าหน้าตาไม่ต่างจาก 2007 เหมือน 2000 กับ 2003 แต่มีความสามารถใหม่เพิ่มขึ้น เช่น สแนปช็อต ทำให้เราไม่ต้องใช้โปรแกรมเสริมจับภาพหน้าจอ เพื่อสแนปรูปจากคอมพิวเตอร์ เราสามารถใช้ฟังก์ชั่นใหม่ในเวิร์ดจับภาพได้เลย คล้ายกับโปรแกรมวันโน๊ต
 และที่เห็นได้ชัดเจนคือเครื่องมือพริ้นพรีวิว ดูคำผิด ช่วยให้กำหนดหน้าตาเอกสารก่อนพิมพ์ได้ง่ายขึ้น ตอนนี้เวิร์ด 2010 ยังอยู่ในขั้นทดลองใช้งาน คาดว่าปีหน้าถึงจะเปิดตัวได้

มีอะไรที่อยากเห็นเพิ่มเติมในเวิร์ด 2010

 ความเร็วในการใช้งาน ไม่กินทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญครับ ในเวิร์ด 2007 ได้เสริมระบบลาสพรีวิวเข้ามา เพื่อให้ดูเอกสารได้สะดวกขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าตรงนี้มันกินทรัพยากรไปพอสมควร อย่างที่หลายเสียงบ่นว่าเมื่อใช้เวิร์ด 2007 กับระบบปฏิบัติการวินโดวส์วิสต้า ยิ่งทำให้ช้า กลายเป็นว่าใช้เวิร์ดก็ยิ่งช้า แต่เท่าที่ทราบคือระบบปฏิบัติการใหม่หรือวินโดวส์ 7 ถูกออกแบบมาให้ทรัพยากรน้อยลง ความเร็วในการใช้งานเพิ่มขึ้นครับ

การแข่งขันไมโครซอฟท์ออฟฟิตระดับโลกเป็นอย่างไรบ้าง

 เหมือนกับการแข่งขันโอลิมปิควิชาการ ซึ่งบริษัทไมโครซอฟต์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 มีผู้สมัครเข้าแข่งขันจาก 70 กว่าประเทศทั่วโลก ระดับระดับมัธยม และอุดมศึกษา ในโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด และ เอ็กซ์เซล ผมได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งเวิร์ด 2007 หลังจากชนะจากแข่งขันระดับประเทศ ซึ่งมีสถาบันไอทีไอที บริษัท เออาร์ไอที จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และอุทยานการเรียนรู้  ทีเค ปาร์ค สนับสนุน โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านไอที จากไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการันตีความสามารถ

ข้อสอบเป็นแบบไหน

 โปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิตเป็นลักษณะแอพพลิเคชั่นใช้งาน ดังนั้นลักษณะข้อสอบที่พบจึงไม่ใช่ช้อยส์ หรือตัวเลือก แต่เป็นข้อสอบแบบปฏิบัติ ที่ต้องใช้ทักษะในการแก้โจทย์ปัญหาให้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ 50 นาที เช่น โจทย์กำหนดให้สร้างตาราง 3 แถว 6 คอลัมน์ เราต้องใช้คำสั่งในการสร้างตาราง การสร้างกราฟแผนภูมิวงกลม แผนภูมิแท่ง กำหนดพื้นหลังของแบล๊กกราวน์เอกสารเป็นสี ขนาดที่ต้องการ ซึ่งทำได้วิธีการทำมีมากกว่า 2 วิธี คือวิธีป้อนคำสั่งจากเมนูบาร์ หรือเลือกคลิกเมาส์ขวา เข้าช่องทางลัดบนคีย์บอร์ด แล้วแต่ทักษะของแต่ละคน


หลายคนอาจจะมองว่าเป็นโจทย์ทั่วไปที่ไม่ท้าทายความสามารถมากนัก แต่สำหรับผมแล้วใช้เวลาแก้โจทย์ทั้ง 26 ข้อหลัก แถมด้วยข้อย่อย โดยใช้เวลาไป เพียง 7 นาที ได้คะแนนเต็ม

มีเคล็ดลับอะไร

 เราควรรู้ทุกคำสั่งที่โปรแกรมมี และใช้ให้ชำนาญ รู้ว่าใช้อย่างไร ถ้ามีโปรแกรมอะไรใหม่ๆ มา ก็จะลองเล่น โดยเฉพาะโปรแกรมที่ใช้งานจริงๆ เช่น โปรแกรมสร้างเว็บไซท์ อย่าง ดรีมเวฟเวอร์ โฟโต้ชอป ลองเล่นในความหมายของผมคือทำความรู้จักกับฟีเจอร์สำคัญว่ามีอะไรใหม่ๆ น่าสนใจบ้าง ถ้าผมจะทดลองใช้งานโปรแกรมใดสักโปรแกรมหนึ่งผมต้องรู้ว่าโปรแกรมนั้นใช้งานยังไง มีอะไรสำคัญ และทำไรอะไรได้บ้าง

อยากเห็นโปรแกรมเอกสารของคนไทยไหม
 โปรแกรมสร้างไฟล์เอกสารมีคนทำเป็นโอเพ่นซอร์สอยู่แล้ว แต่เราสามารถพัฒนาให้แตกต่างกว่าได้ โดยสร้างฟังก์ชั่นการทำงานที่เหมาะสมกับคนไทย เช่น การแก้ไขสระลอย ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับผู้ใช้งาน เช่น ในเวิร์ด 2003 เจอปัญหาสระลอยค่อนข้างเยอะ ผมว่าคนไทยน่าจะรู้ว่าควรจะแก้ไขปัญหานี้ได้เอย่างไร

 ปกติใช้คอมพิวเตอร์ทำไรบ้าง
 ผมเล่นคอมพิวเตอร์วันละ 4-5 ชั่วโมง แต่ใช้อินเตอร์เน็ตตลอดเวลา เพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสารออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของหนังสือสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ความรู้ เทคโนโลยี ส่วนตัวสนใจศึกษากฎหมาย และหลงเสน่ห์มวยปล้ำเป็นพิเศษ โดยงานอดิเรกส่วนหนึ่งในการอัพเดทข้อมูลความรู้ในสารานุกรมเสรี หรือวิกิพีเดีย

คิดไงกับพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
 ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่มี พรบ. อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ออกมา เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีกฎหมายที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ หากมีปัญหาขึ้นมาเราต้องประยุกต์ประมวลกฎหมายอาญาขึ้นมาเองเลย เช่น โพสรูปถ่ายที่ไม่เหมาะสม เราอาจต้องประยุกต์กับกฎหมายมาตรที่ 36 ในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทมาใช้ บางอย่างมันมีช่องโหว่ ทำให้ที่ผ่านมาเราเอาผิดอะไรไม่ได้เลย

 อุปสรรคของการใช้งานอยู่ที่โลกคอมพิวเตอร์เป็นโลกไร้พรมแดน ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากเราไม่มีทางรู้ว่าคนทำอยู่ที่ไหน ณ เวลานั้น ดังนั้นการหาตัวผู้กระทำความผิดให้เจอจึงเป็นเครื่องยาก บนโลกอินเตอร์เน็ตที่ไม่มีการแสดงตน ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ หรือบางคนก็หลอกลวงข้อมูล ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง

คิดว่าบทลงโทษรุนแรงไปไหม

 ผมมองว่ามาตรการลงโทษอยู่ในระดับที่ดีแล้ว เพราะกฎหมายฉบับหนึ่งกว่าจะคลอดออกมาได้ต้องใช้เวลานาน ถ้าเราได้ทดลองใช้ไประยะหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายในลักษณะนี้มาก่อน ควรเสริมในเรื่องการดำเนินการ ความยุ่งยากก็คือการปราบปรามผู้กระทำผิดทางด้านคอมพิวเตอร์ มีอะไรใหม่ๆ ที่ผู้ดูแลกฎหมายตามไม่ทัน

เล่นเกมออนไลน์บ้างไหม

 ปกติผมไม่ได้เล่นเกม การเล่นเกมต้องทุ่มเท ซึ่งผมคงไม่มีเวลาพอ แต่ต้องยอมรับว่าเกมมีข้อดี อย่าง แร็คนาร็อค ที่เคยบูมเมื่อ 6-7 ปีก่อน ทำให้ตลาดเกมบ้านเราคึกคักขึ้น ดูจากเกมออนไลน์ในปัจจุบันที่มีกว่า 50 เกม แถมมีเกมใหม่ออกมาเรื่อยๆ จนแทบตามไม่ทัน

 บางครั้งเราอาจนำประโยชน์จากการเล่นเกมมาใช้เช่นการวางแผนความรวดเร็วในการตัดสินใจ การทำงานเป็นทีม อย่างโดต้าหรือดอทเอ เกมออนไลน์ ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน หลักสำคัญคือทีมเวิร์ค มีสมาธิจดจ่อ ถ้ามีเวทีให้สร้างสรรค์ก็ดี

 ขณะนี้ผู้ผลิตเกมได้การจัดการแข่งขันเปิดโอกาสในคนที่ชอบเล่นเกมจริงๆ ได้แสดงความสามารถ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดี เกมคอมพิวเตอร์ทุกเกมมีประโยชน์หมด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นประโยชน์มันมากแค่ไหน

มีบล็อกเป็นของตัวเองไหม

 ผมไม่เล่นบล็อก แต่มีไฮไฟว์ และช่วงนี้กำลังลองเล่นทวิตเตอร์อยู่ (ยิ้ม) สำหรับไฮไฟว์ใช้มาค่อนข้างนานและยังใช้อยู่ ผมมองว่าสังคมออนไลน์ทำให้เราสามารถพบปะผู้คนได้มากกว่าเดิม เป็นเรื่องที่ดีสำหรับการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว แต่ปัญหาคือเราใช้เป็นหรือเปล่า เป็นในที่นี้หมายความว่า ใช้ไปในทางสร้างสรรค์หรือเปล่า เพราะคนที่ใช้เป็นในทางไม่สร้างสรรค์ มีผลประโยชน์แอบแฝง นั่นถือว่าใช้ไม่เป็น หรือใช้เป็น แต่ใช้ไปในทางที่ผิด

 ปัญหาที่พบในโลกอินเตอร์เน็ตคือการใช้ภาษา ที่เกิดขึ้นเพราะความรวดเร็ว สะดวก มากจนลืมถึงความถูกต้อง บางครั้งการใช้ภาษาที่ผิดๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเคยชิน และนำมาใช้เป็นภาษาเขียน ตามหลักภาษาเขียนต้องการความถูกต้อง เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข พอๆ กับการใช้สังคมออนไลน์ไปในทางที่ผิด เช่นการล่อลวง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน

 โดยส่วนตัวมองว่าการห้ามไม่ให้เล่น ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา เพราะการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือการชี้ให้เขาเห็นถึงปัญหา เล่นอย่างไรถึงถูก ถึง สร้างสรรค์ ถ้าห้ามก็แสดงว่าเรามองข้ามประโยชน์ของมันไปเลย

 สนใจอยากรู้จักกับอัจฉริยะ ไมโครซอฟท์เวิร์ดเพิ่มเติม แวะไปทักทายรวมถึงฝากคำถามถึงเขาได้ที่ evolutionisthegame.hi5.com แต่ใช้ว่าอัจฉริยะไมโครซอฟท์เวิร์ดคนนี้จะเชี่ยวชาญเฉพาะโปรแกรมจัดการไฟล์เอกสารเท่านั้น เพราะเขายังทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วิชวล ซี จาวา ฟอร์แทรน โดยใช้ความรู้ด้านภาษาคอมพิวเตอร์ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สร้างเว็บไซต์

  ในอนาคตอาจมีโอกาสได้เห็น กานกวิญจน์ เป็นหนึ่งในเว็บโปรแกรมเมอร์แถมหน้าของไทยที่น่าจับตามองคนหนึ่ง อย่าลืมว่าเรากำลังคุยอยู่กับเด็กอายุเพียง 17 ปี เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น